ขนาด: สูง 3.5
วัสดุ/เทคนิคทำผิว: เนื้อทองเหลือง
คำว่า อวโลกิเตศวร ได้มีผู้ให้ความหมายไว้หลายนัยด้วยกัน แต่โดยรูปศัพท์แล้ว คำว่าอวโลกิเตศวรมาจากคำสันสกฤตสองคำคือ อวโลกิต กับ อิศวร แปลได้ว่าผู้เป็นใหญ่ที่เฝ้ามองจากเบื้องบน หรือพระผู้ทัศนาดูโลก ซึ่งหมายถึงเฝ้าดูแลสรรพสัตว์ที่ตกอยู่ในห้วงทุกข์นั่นเอง, ซิมเมอร์ นักวิชาการชาวเยอรมันอธิบายว่า พระโพธิสัตว์องค์นี้ทรงเป็นสมันตมุข คือ ปรากฏพระพักตร์อยู่ทุกทิศอาจแลเห็นทั้งหมด ทรงเป็นผู้ที่สามารถบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ คืออาจจะเป็นพระพุทธเจ้าเมื่อใดก็ได้ แต่ทรงยับยั้งไว้เนื่องจากความกรุณาสงสารต่อสรรพสัตว์ นอกจากนี้นักปราชญ์พุทธศาสนาบางท่านยังได้เสนอความเห็นว่า คำว่า อิศวร นั้น เป็นเสมือนตำแหน่งที่ติดมากับพระนามอวโลกิตะ จึงถือได้ว่าเป็นพระโพธิสัตว์พระองค์เดียวที่มีตำแหน่งระบุไว้ท้ายพระนาม ในขณะที่พระโพธิสัตว์พระองค์อื่นหามีไม่ อันแสดงให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่และความสำคัญยิ่งของพระโพธิสัตว์พระองค์นี้ พุทธศาสนิกชนชาวจีนจะรู้จักพระโพธิสัตว์พระองค์นี้ในพระนามว่า กวนซีอิม หรือ กวนอิม ซึ่งก็มีความหมายเช่นเดียวกับคำว่าอวโลกิเตศวรในภาษาสันสกฤต คือผู้เพ่งสดับเสียงแห่งโลก แต่โดยทั่วไปแล้วมักให้อรรถาธิบายเป็นใจความว่าหมายถึง พระผู้สดับฟังเสียงคร่ำครวญของสัตว์โลก (ที่กำลังตกอยู่ในห้วงทุกข์) คำว่ากวนซีอิมนี้พระกุมารชีวะชาวเอเชียกลางผู้ไปเผยแผ่พระศาสนาในจีนเป็นผู้แปลขึ้น ต่อมาตัดออกเหลือเพียงกวนอิมเท่านั้น เนื่องจากคำว่าซีไปพ้องกับพระนามของ จักรพรรดิถังไท่จง หรือ หลีซีหมิง นั่นเอง